หลักการเเละเหตุผล

                  ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2561 และจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2568 โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนของประชากรสูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เกือบ 1 ใน 5 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยองค์การสหประชาชาติได้ประเมินสถานการณ์ว่าในช่วงปี 2544-2643 (ค.ศ.2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก การเป็นสังคม ผู้สูงอายุที่ส่งผลให้มีการขาดแคลนแรงงานในประเทศและมีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เป็นโอกาสอย่างมากสำหรับประเทศไทยที่จะพัฒนาด้านการให้บริการสุขภาพในรูปแบบต่างๆซึ่งสอดคล้องกับสอดคล้องของแผนงานวิจัยกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)

                  องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการประเมินสถานการณ์ว่าในช่วงปี 2544-2643 (ค.ศ.2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลก และจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ระบุว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีประชากรวัยแรงงาน 2 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และพบมีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น และมักมีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะด้านบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั้งในแง่ปริมาณ ความครอบคลุม และคุณภาพของบริการฯที่มีค่าใช้จ่ายที่ประหยัด ดังนั้นในการศึกษานี้ จึงได้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบบริการฯ โดยระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุนี้ เป็นระบบที่ตอบสนองกลยุทธ์ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ มีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้า และส่งเสริมให้เป็นสังคมแบ่งปัน เนื่องจากระบบบริการสุขภาพดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุไทย

                  นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยที่ 3 : การส่งเสริมกลไกและกิจกรรม กระบวนการวิจัย ผลงานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมโดยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพื่อเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานและนักวิจัยผลิตผลงานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยในรูปแบบสหวิทยาการและบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เพื่อมุ่งเป้าสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศและภารกิจของหน่วยงาน นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนงานบูรณาการที่ 17. การสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (จากแผนงานบูรณาการ 25 แผนงาน) เป้าหมายที่ 2 : การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งโครงการที่เสนอจะครอบคลุมเป้าหมาย 2 แนวทางดังนี้ แนวทางที่ 2.1.1 : พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว แนวทางที่ 2.1.2 : พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัยและการปฏิรูประบบเพื่อสร้างสัมคมสูงวัยอย่าง มีคุณภาพ ประกอบกับการพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัยให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศโดยช่วงวัยเด็กตั้งแต่แรก เกิดให้มีการพัฒนาที่สมวัยในทุกด้าน วัยเรียน วัยรุ่นให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น ภายใต้บริบทสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม วัยแรงงานให้มีการพัฒนายกระดับสมรรถนะ วัยผู้สูงอายุให้มีการทำงานที่เหมาะสมตามศักยภาพและประสบการณ์ มีรายได้ในการดำรงชีวิต มีการสร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพเพื่อป้องกัน หรือชะลอความทุพพลภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดภาระแก่ปัจเจกบุคคล ครอบครัว และระบบบริการ สุขภาพ

                  การจัดตั้งความเป็นเลิศด้านผู้สูงวัย จะช่วยให้ได้งานวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องและเหมาะสม สามารถสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุอย่างเฉพาะเจาะจง สอดคล้องกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรม และมีความยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีความสอดคล้องกับความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งมีศักยภาพในการดูแลบุคคลทั้งคนครอบคลุมมิติกาย จิต อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถคงความสมดุลของชีวิตในทุกมิติ และสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพชีวิตทั้งในภาวะปกติและเจ็บป่วย ลดภาวะแทรกซ้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ด้วยการเพิ่มวิถีเพียงพอ 3 ด้านหลัก คือ การบริโภคที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการจัดการกับอารมณ์ และยังมีการเชื่อมโยงของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ มีความหลากหลาย ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศระบบการดูแลเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงวัยไทยในครั้งนี้ จึงเน้นการพัฒนางานวิจัยระบบการดูแลเชิงบูรณาการโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม การดึงเอาทุนของสังคม ความเป็นชุมชน วิถีชุมชน ซึ่งมีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เต็มศักยภาพ เป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเอง การพึ่งพากันของคนในชุมชน เกิดภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ/เอกชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหน่วยงานภาคการบริการสุขภาพ ภาคการศึกษา และภาคประชาชน เกิดระบบการดูแลสุขภาพที่เข้มแข็งในเชิงโครงสร้างทั้งด้านวิชาการและด้านบริการ ส่งเสริมวัฒนธรรมการช่วยเหลือ และเอื้อต่อสุขภาพ ในการศึกษาครั้งนี้ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา ความต้องการ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการในทิศทางสอดคล้องกับความเชื่อความต้องการ และเสริมสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฝ่ายการศึกษา) มีส่วนร่วมในการทบทวน และพัฒนาระบบข้อมูล พัฒนาหลักสูตรในการสอนและอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องการดูแลผู้สูงอายุระดับต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการอย่างทั่วถึง พัฒนาองค์ความรู้ และวางแผน จัดทำโครงการ/ กิจกรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดระบบบริการในทิศทางที่คาดหวัง มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการ พัฒนาสถานบริการ เตรียมและพัฒนาสมรรถนะของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประสานเครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อดำเนินการจัดบริการสุขภาพ โดยใช้ข้อมูล และนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ที่ให้บริการในทุกภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการคือ 1) การสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณค่าจากการพึ่งตนเองได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม และ 2) สร้างเสริมสุขภาวะและการดูแลทางสังคมสำหรับผู้สูงวัยตามความหลากหลายของบริบทภาคใต้ทั้งในเขตเมืองและชนบท ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมสูงอายุผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพที่เกิดขึ้น และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพชีวิตตามอัตภาพ ลดภาวะแทรกซ้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน